เว็บไซต์ของสำนักงานการบินของรัฐบาล (GFS) ใน ภาษาไทย จะประกอบไปด้วยเนื้อหาสำคัญที่ถูกคัดเลือกมาบางส่วนเท่านั้น ท่านสามารถเข้าถึงเนื้อหาของเว็บไซต์อย่างเต็มรูปแบบได้เป็นภาษาอังกฤษ ภาษาจีนดั้งเดิม หรือภาษาจีนตัวย่อ

สารจากผู้ควบคุม สำนักงานการบินของรัฐบาล

การบินและการทำงานบนอากาศยานถือเป็นความฝันของเรามาโดยตลอด เราคือผู้โชคดีที่ได้รับใช้ประชาชนไปพร้อม ๆ กับทำตามความฝัน จากความมุมานะพยายามของผู้ควบคุมในอดีตทุกท่าน สำนักงาน GFS จึงได้กลายมาเป็นหน่วยงานเกี่ยวกับการบินกึ่งทหารที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ ที่ทำงานสนับสนุนการทำงานในทุกแง่มุมของรัฐบาลเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ขอบเขตการทำงานของเรามีตั้งแต่ปฏิบัติการตามหาและกู้ภัยในทะเลหลวงท่ามกลางพายุไต้ฝุ่น งานดับเพลิง และงานต่อต้านการก่อการร้าย ไปจนถึงการขนย้ายผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาล ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ความท้าทายที่เราพบเจอได้แปรเปลี่ยนไป จากการให้บริการเกี่ยวกับการบินอย่างเร่งด่วน ไปเป็นการให้บริการที่ต้องตอบสนองต่อความต้องการเฉพาะของประชาชน อาทิ เราได้พัฒนาขีดจำกัดความสามารถของเราในการปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บบนอากาศยานของเรา ในระหว่างขนย้ายพวกเขาไปยังโรงพยาบาล ซึ่งเป็นบริการที่สำคัญเป็นพิเศษในกรณีที่เราต้องช่วยเหลือผู้บาดเจ็บสาหัสจากอุบัติเหตุบนท้องถนน

เราจะดำเนินการพัฒนาบริการของเราแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง ผ่านการใช้เทคนิคและกระบวนการใหม่ ๆ และอุปกรณ์ที่ดีขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น เราจะลงทุนในบุคลากรของเราต่อไป เพราะพวกเขาคือผู้ที่สร้างความแตกต่าง เรามั่นใจว่า ด้วยความพยายามร่วมกันของเหล่าข้าราชการรักษาระเบียบทุกคน เราจะทำให้ฮ่องกงเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยและมีความสุขได้มากกว่าเดิม

ขอยินดีต้อนรับท่านเข้าสู่ GFS อีกหนึ่งครั้ง เราคือ "ความฝันหนึ่งเดียว ครอบครัวเดียวกัน"

บริการและปฏิบัติการ

หน้าที่หลักของ GFS คือการให้บริการช่วยเหลือโดยเฮลิคอปเตอร์หรืออากาศยานปีกแข็งตลอด 24 ชั่วโมง สัปดาห์ละเจ็ดวัน ให้แก่รัฐบาลเขตบริหารพิเศษฮ่องกง บริการและปฏิบัติการสำคัญของ GFS ได้แก่

งานค้นหาและกู้ภัย (SAR)

หน้าที่สำคัญประการหนึ่งของ GFS คืองาน SAR ถึงแม้ว่าเราจะต้องรับผิดชอบพื้นที่ส่วนใหญ่ในทะเลจีนใต้มากถึง 1,300 กิโลเมตรทางตอนใต้ของฮ่องกง งานค้นหาและกู้ภัยส่วนมากจะเกิดขึ้นภายในระยะทาง 400 ไมล์ทะเลของฮ่องกง

อากาศยานรุ่น Challenger 605 (CL605) จะถูกใช้งานเป็นอากาศยานค้นหาและกู้ภัยในขั้นแรก สำหรับปฏิบัติงาน SAR ระยะไกลและนอกชายฝั่งทุกครั้ง โดยจะเป็นอากาศยานลำแรกที่ไปถึงจุดเกิดเหตุ และจะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้บัญชาการในพื้นที่ หลังจากนั้น อากาศยานลำนี้จะนำทางให้กับเฮลิคอปเตอร์ Airbus H175 ไปยังจุดเกิดเหตุเพื่อรับผู้บาดเจ็บ หรือร้องขอความช่วยเหลือจากเรือสินค้าลำอื่น ๆ ในพื้นที่ ในกรณีที่จุดเกิดเหตุอยู่นอกพื้นที่ปฏิบัติงานของเฮลิคอปเตอร์ Airbus H175

นอกจากนี้ ยังมีปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยบนชายฝั่งโดยอาศัยเฮลิคอปเตอร์ Airbus H175 ด้วยเช่นกัน การค้นหานักเดินเขาและนักปีนเขาที่สูญหายหรือได้รับบาดเจ็บในช่วงเช้ามืดนั้น เกิดขึ้นบ่อยครั้งมาก ซึ่งเป็นปฏิบัติการที่ต้องมีการรับผู้คนจากพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยาก ในบริเวณเนินเขาหินของเขต New Territories หรือจากเกาะที่รายล้อมโดยรอบ ส่วนมากจะเกิดขึ้นในช่วงที่มีสภาพอากาศแย่

ไม่ว่าจะอยู่ระหว่างเกิดหรือหลังเกิดพายุไต้ฝุ่น หรือภัยธรรมชาติอื่น ๆ GFS ก็จะมีงานล้นมืออย่างมาก นอกเหนือจากงานค้นหาและกู้ภัยแล้ว สำนักงานยังมีการขนข้าราชการไปตรวจดูพื้นที่อุทกภัย และความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อทรัพย์สินและพืชพันธุ์ และมีการขนส่งสิ่งของและผู้บาดเจ็บทางอากาศไปยังโรงพยาบาลอีกด้วย

เที่ยวบินลาดตระเวนหลังเกิดพายุไต้ฝุ่น ได้รับการออกแบบมาให้ระบุพื้นที่ที่ต้องการความช่วยเหลือทันทีที่สภาพอากาศดีขึ้น โดยจะมีการบินเพื่อบรรเทาภัยในลักษณะดังกล่าว

งานอพยพผู้บาดเจ็บ (CASEVAC) / อากาศยานพยาบาล

GFS ให้บริการอากาศยานพยาบาลตลอด 24 ชั่วโมง โดยหลังจากที่ได้รับแจ้งเหตุฉุกเฉินจากคลีนิกทั่วทั้งเขตแดน เฮลิคอปเตอร์ของ GFS สามารถเดินทางไปถึงจุดเกิดเหตุได้ภายใน 20 นาทีสำหรับจุดที่อยู่ในเขตเกาะ อาทิ Hong Kong Island, Cheung Chau, Hei Ling Chau, Lantau, Peng Chau และ Soko Islands และ 30 นาทีสำหรับจุดอื่น ๆ ในอาณาเขตของฮ่องกง

โดยสอดคล้องกับการเริ่มใช้งานระบบแพทย์ฉุกเฉิน GFS ได้ขยายโครงการให้ความช่วยเหลือโดยเจ้าหน้าที่การแพทย์ทางอากาศ เพื่อให้ครอบคลุมแพทย์และพยาบาลที่ได้รับการฝึกอบรมเป็นการเฉพาะ และได้อาสาให้บริการเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บเฉพาะทางให้กับผู้ป่วยบนอากาศยาน บริการนี้ได้รับการขยายให้ครอบคลุมระยะเวลาทุกวันศุกร์จนถึงวันจันทร์ และวันหยุดราชการ

โดยเฉลี่ย เฮลิคอปเตอร์ของเราบินส่งผู้บาดเจ็บไปส่งโรงพยาบาลประมาณ 1,500 คนต่อปี

งานดับเพลิง

นอกจากนี้ เฮลิคอปเตอร์ Airbus H175 ของเรายังมีความสามารถในการดับเพลิงอีกด้วย และสามารถช่วยเหลือปฏิบัติการดับเพลิงนอกเมืองได้อย่างดีเยี่ยม ซึ่งได้รับการติดตั้งร่วมกับกรมการดับเพลิง (FSD) กรมเกษตรกรรม การประมง และการอนุรักษ์ (AFCD) และหน่วยกู้ภัยอาสา (CAS)

โดยเฉลี่ย เฮลิคอปเตอร์ของเราใช้เวลาบินประมาณ 300 ชั่วโมงต่อปี ในการไปดับเพลิงตามที่ได้รับแจ้ง

ในช่วงหน้าแล้ง โดยเฉพาะในช่วงเทศกาล Chung Yeung และเทศกาล Ching Ming นั้น GFS จะให้ความช่วยเหลือแก่ AFCD ในปฏิบัติการ "ประกาศจากฟากฟ้า" โดยการปล่อยเฮลิคอปเตอร์ของเราให้ไปบินเหนือชนบท เพื่อเตือนให้ประชาชนช่วยกันป้องกันไฟป่า โดยการใช้โทรโข่ง

ความมั่นคงภายใน

สำนักงานตำรวจฮ่องกง (HKPF) ใช้งานเฮลิคอปเตอร์ของกรมเป็นประจำในการปฏิบัติงานด้านต่าง ๆ อาทิ ลาดตระเวน สอดส่องการจราจร และติดต่อสื่อสาร จะมีการบินลาดตระเวนเป็นประจำโดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทะเลนั่งไปด้วย เพื่อค้นหาผู้หลบหนีและผู้ลักลอบขนสินค้าเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย เฮลิคอปเตอร์ Airbus H175 ได้เข้าประจำการในปี 2018 และเข้ามาเพิ่มความสามารถในการให้ความช่วยเหลือทางอากาศให้ดียิ่งขึ้น ด้วยอุปกรณ์ประกอบภารกิจที่หลากหลายเช่นนี้ ทำให้เฮลิคอปเตอร์ของเราสามารถถูกปรับแต่งให้สอดคล้องกับความต้องการของหน่วยงานบังคับกฎหมายอื่น ๆ ได้

ด้วยอุปกรณ์ที่ล้ำสมัย และอัตราการกินน้ำมันต่ำของอากาศยานรุ่น CL605 ทำให้พวกมันถูกนำไปใช้เพื่อทำการลาดตระเวนแบบลอบเร้นโดย HKPF บ่อยครั้ง เพื่อตรวจจับการลักลอบขนสินค้า ผู้หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย และการขนยาเสพติด

การให้ความช่วยเหลือต่อรัฐบาลเป็นการทั่วไป

กรมมหาดไทย กรมทะเล กรมการบินพลเรือน (CAD) หอดูดาวฮ่องกง (HKO) และกรมบริการสารสนเทศ มักใช้งานเฮลิคอปเตอร์เพื่อปฏิบัติหน้าที่ของตน นอกจากนี้ คณะผู้บริหารยังใช้เฮลิคอปเตอร์เพื่อเดินทางไปยังพื้นที่ห่างไกลของฮ่องกงอย่างเป็นทางการในหลายโอกาสอีกด้วย

หน้าที่ที่เราดำเนินการเพื่อ CAD ได้แก่ การทดสอบไฟส่องสว่างรันเวย์ที่มีอยู่ การบินเหล่านี้ครอบคลุมการถ่ายภาพไฟส่องสว่างในตอนกลางคืนขณะกำลังลงจอด เพื่อตรวจสอบการทำงานของไฟเหล่านั้น นอกจากนั้น GFS ยังอบรมทักษะการบินอันมีค่าให้กับเจ้าหน้าที่ CAD อีกด้วย

GFS ให้บริการส่งข้อมูลสภาพอากาศเป็นประจำให้กับ HKO ซึ่งครอบคลุมเส้นทางลงจอดและขึ้นบนของท่าอากาศยานนานาชาติฮ่องกง รวมถึงข้อมูลสภาพอากาศภายในพายุไซโคลนเขตร้อนอีกด้วย

เฮลิคอปเตอร์ของกรมสามารถช่วยเหลือกรมทะเลได้ จากการตรวจสอบเรือที่ต้องสงสัยว่ามีการปล่อยน้ำมันทิ้งในน่านน้ำของฮ่องกง และทำการฉีดสารทำให้น้ำมันกระจายตัวในกรณีจำเป็น

งานที่กรมทำเพื่อต้อนรับแขกผู้มาเยือนคนสำคัญก็เป็นสิ่งที่ควรพิจารณา เนื่องจากแขกผู้มาเยือนเหล่านี้ประสงค์จะมองเห็นฮ่องกงให้ได้มากที่สุด ภายในระยะเวลาที่น้อยที่สุดที่เป็นไปได้ จึงทำให้มีเพียงเฮลิคอปเตอร์เท่านั้นที่สามารถตอบสนองความต้องการนี้ได้ รัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่รัฐจากต่างประเทศมักจะโดยสารไปกับอากาศยานของ GFS ระหว่างมาเยือน

การถ่ายภาพทางอากาศ

สำนักงานการบินของรัฐบาลมักจะให้บริการด้านการบินแก่กรมที่ดินเป็นประจำ เพื่อทำการถ่ายภาพฮ่องกงทางอากาศในระดับความสูงต่าง ๆ โดยอากาศยานรุ่น Challenger 605 ปีกแข็งหลากหลายบทบาทได้รับการดัดแปลงเป็นการเฉพาะ และสามารถปรับแต่งเพื่อการถ่ายภาพทางอากาศได้เมื่อต้องการ ระบบกล้องดิจิทอลถ่ายภาพทางอากาศรูปแบบใหญ่ (UltraCam Eagle) สามารถติดตั้งในใต้ท้องเครื่องบินที่มีเซนเซอร์หลายจุดได้ เพื่อจับภาพคมชัดสูงที่มีขนาดมากถึง 260 ล้านพิกเซล รูปภาพเหล่านี้สามารถนำไปใช้และผลิตเป็นภาพถ่ายทางอากาศหลายประเภท เพื่อการใช้สอยของประชาชนและรัฐบาล อาทิ ภาพสี ภาพสีอินฟราเรด และภาพถ่ายทางอากาศแนวเฉียง

การตรวจสอบพายุไต้ฝุ่น/พายุไซโคลนเขตร้อน

ฮ่องกงตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ส่วนที่มีความเสี่ยงโดนพายุไซโคลนเขตร้อน ในทุกปี ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป พายุไซโคลนเขตร้อนจะก่อตัวขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิก และอาจส่งผลกระทบต่อฮ่องกงได้ โดยมีความรุนแรงหลายระดับ ดังนั้น การวัดค่าทางอุตุนิยมวิทยาที่แม่นยำ จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการคาดการณ์กำลังและทิศทางของพายุไซโคลน รวมถึงเพื่อพยากรณ์สภาพอากาศและแจ้งเตือนประชาชน ข้อมูลสำคัญ อาทิ อุณหภูมิ ลม ความดันอากาศ ความชื้นตลอดช่วงที่เกิดพายุไซโคลนจึงเป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง อย่างไรก็ดี พายุไซโคลนเขตร้อนเป็นพายุอันตราย ทำให้การเก็บรวบรวมข้อมูลจากในพายุเป็นไปได้ยากและเสี่ยงอันตราย ซึ่งหนึ่งในวิธีที่ทำให้สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนนี้ได้อย่างปลอดภัย ก็คือการใช้ดร๊อปซอนด์

ดร๊อปซอนด์ คือ อุปกรณ์วัดสภาพอากาศที่เต็มไปด้วยเครื่องมือและเซนเซอร์ ซึ่งจะติดแนบไปกับร่มชูชีพขนาดเล็ก มันได้รับการออกแบบให้ถูกปล่อยออกมาจากอากาศยานจากระดับความสูงมาก ก่อนจะตกลงมายังพื้นผิวโลกอย่างช้า ๆ ไปพร้อมกับการเก็บรวบรวมข้อมูล ระหว่างตกลงมา จะมีการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งและสภาพอุตุนิยมวิทยาเพื่อส่งกลับไปยังอากาศยานผ่านคลื่นวิทยุ

ภารกิจการใช้ดร๊อปซอนด์ เป็นความร่วมมือระหว่างหอดูดาวฮ่องกง (HKO) ซึ่งเริ่มต้นในปี 2016 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการตรวจตราพายุไซโคลนเขตร้อนใกล้ฮ่องกง ภารกิจแรกมีการบินในเดือนกันยายน 2016 เมื่อพายุไซโคลนเมกิเคลื่อนผ่านพื้นที่ทางตอนเหนือของทะเลจีนใต้

เมื่อพายุไซโคลนเขตร้อนเคลื่อนเข้ามายังทะเลจีนใต้และอาจจะส่งผลต่อฮ๋องกง จะมีการปล่อยอากาศยานรุ่น Challenger 605 ปีกแข็ง เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงอุตุนิยมวิทยาเมื่อได้รับคำขอจาก HKO การขึ้นบินเพื่อปล่อยดร๊อปซอนด์ทั่วไป จะปล่อยซอนด์ออกมาประมาณ 10-15 ชิ้นภายในเขตข้อมูลการบินฮ่องกง (FIR) และจะกินเวลาเที่ยวบินละ 3 ชั่วโมงโดยประมาณ

ภารกิจปล่อยดร๊อปซอนด์เหล่านี้ ช่วยนำเสนอข้อมูลสำคัญที่ช่วยให้ HKO สามารถพยากรณ์อากาศและออกประกาศเตือนพายุไซโคลนเขตร้อนได้อย่างแม่นยำ ทำให้ประชาชนและหน่วยงานรัฐสามารถมีมาตรการเฝ้าระวังตามความจำเป็น และรับประกันความปลอดภัยระหว่างเกิดพายุได้ แม้การเก็บรวบรวมข้อมูลจากด้านในพายุไซโคลนเขตร้อนจะเป็นเรื่องที่อันตราย การใช้ดร๊อปซอนด์ก็ถือเป็นวิธีการที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการเก็บรวบรวมข้อมูลสำคัญ ซึ่งช่วยเพิ่มพูนให้เราทำความเข้าใจและสามารถจัดการพายุอันทรงพลังเหล่านี้ได้ดียิ่งขึ้น